ข้อมูลหลักสูตรและการจัดการศึกษา

ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์
ภาษาอังกฤษ Bachelor of Science Program in Physics
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ภาษาไทย ชื่อเต็ม  :   วิทยาศาสตรบัณฑิต (ฟิสิกส์)
  ชื่อย่อ   : วท.บ. (ฟิสิกส์)
ชื่อภาษาอังกฤษ ชื่อเต็ม  : Bachelor of Science (Physics)
  ชื่อย่อ   : B.Sc. (Physics)

ปรัชญาของหลักสูตร
          ความรู้ความสามารถทางฟิสิกส์ เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และก่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ระดับสูง

ความสำคัญของหลักสูตร
         การได้มาซึ่งความรู้ต่างๆ ต้องมีเหตุมีผลหลักการรองรับตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์คือเป้าหมายสำคัญของฟิสิกส์ ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ให้ผู้เรียนมีความรอบรู้ทั้งทางทฤษฎีฟิสิกส์พื้นฐานการศึกษากฎธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และเป็นศาสตร์ที่สามารถอธิบายวัตถุและพลังงาน ดังนั้นฟิสิกส์จึงเป็นวิชาที่สามารถต่อยอดความรู้สู่ระดับการศึกษาและการวิจัยที่สูงขึ้น สร้างหรือประดิษฐ์เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อนำความรู้นี้ไปใช้เป็นพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ใหม่เพิ่มเติมและพัฒนา คุณภาพชีวิตของมนุษย์

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
1. มีความรู้ด้านฟิสิกส์พื้นฐาน รู้ลึกซึ้งในศาสตร์เฉพาะด้านและมีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ประกอบด้วย ชีวฟิสิกส์ ฟิสิกส์ของวัสดุ ธรณีฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และฟิสิกส์ประยุกต์พลังงาน ซึ่งสามารถต่อยอดความรู้สู่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น
2. มีทักษะด้านการทำวิจัย ต่อยอดผลงานวิจัยได้ด้วยตนเอง และสามารถใช้ทักษะด้านฟิสิกส์เพื่อบูรณาการกับศาสตร์อื่นๆ ได้
3. มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้นำ อดทนในการทำงานและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
1. ครูวิทยาศาสตร์สอนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา
2. นักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการทางฟิสิกส์ ในมหาวิทยาลัย หน่วยวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในหน่วยงานของรัฐ และเอกชน
3. นักวิเคราะห์ข้อมูลในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สถานีอุตุนิยมวิทยา ศูนย์อุตุนิยมวิทยาระดับภูมิภาค กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สถานประกอบการของเอกชน เป็นต้น
4. นักวิชาการรังสี สังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาค โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน
5. ผู้ช่วยวิจัย ในหน่วยงานของรัฐและเอกชน

ระบบการจัดการศึกษา
          ระบบทวิภาค โดย 1 ภาคการศึกษาเรียนไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์